ดูกันชัดๆ ทำไม “คำ ผกา” จึงเขียน “เอวัง ก็มีแด่สุลักษณ์ด้วยประการฉะนี้”
เอวังจึงวังเวง
ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่าด้วย “ถ้าสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราช ธรรมกายจะเฟื่องฟู” ที่เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ http://www.posttoday.com/analysis/interview/410673 แล้วให้กังวลใจมาก
ก่อนที่จะวิจารณ์เนื้อหาในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ของสุลักษณ์ ฉันต้องขอบอกจุดยืนต่อ ศาสนาและความสัมพันธ์ของศาสนากับรัฐของตนเองเสียก่อน
1. ยังคงยืนยันว่า ศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่รัฐธรรมนูญต้องให้การรับรอง2. สนับสนุนแนวทางของรัฐฆราวาส รัฐกับศาสนาต้องแยกออกจากกัน3. ไม่สนับสนุนการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของไทยโดยธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แล้ว การบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความบาดหมางแก่ศาสนิกของศาสนาอื่นโดยใช่เหตุ และในแนวทางของการเมืองการปกครองของโลกสมัยใหม่นั้นเน้นการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ สังคมควรจะ inclusive มากกว่า exclusive คือ เน้นการเปิดกว้างต้อนรับมากกว่าการกีดกันแบ่งแยก4. สนับสนุนหลักการที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวพันกับการใช้งบประมาณของรัฐต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งหน่วยงานทางศาสนาด้วย
ถามว่าทำไมฉันถึงอ่านบทสัมภาษณ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วยความกังวลใจ ในบทสัมภาษณ์นี้ สุลักษณ์บอกว่า สมณศักดิ์ของพระเป็นเรื่องของ “ศักดินา” ควรยกเลิก ซึ่งฟังดูก้าวหน้าดีอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน สุลักษณ์กลับมีลักษณะเป็นฟาสซิสต์ เมื่อพยายามจะเคลมตลอดบทสัมภาษณ์ว่า พุทธที่ดี พุทธที่แท้ พุทธที่ไม่มีมลทินแปดเปื้อนควรเป็นเช่นไร เช่น
“ยกตัวอย่างพม่ามีพระมากกว่าเมืองไทย มีหลายนิกาย แต่ไม่มีมหาเถรสมาคม หลายอย่างพระพม่าก็แย่กว่าพระไทย หลายอย่างก็ดีกว่า พระพม่าเขาถือตามปรัมปราคติ ถือตามสายครูบาอาจารย์ พระที่ดีในเมืองไทยเหลืออยู่สายเดียวตอนนี้คือ… สายอาจารย์ชา (พระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภัทฺโท เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี) ท่านสอนให้ลูกศิษย์เข้มงวดกวดขันในพระธรรมวินัย สูบบุหรี่ก็ไม่ได้ จับเงินจับทองก็ไม่ได้ ผมเคยส่งพระไพศาล วิสาโล ไปอยู่ที่ลอนดอน ตอนนั้นพระสุเมโธ (พระราชสุเมธาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอมราวดีและวัดป่าจิตตวิเวก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ) เป็นสมภาร ท่านบอกว่าพระไพศาลมาก็ได้ แต่ต้องเอาลูกศิษย์มาด้วย พระเดินทางคนเดียวจับเงินจับทองไม่ได้”
คำถามของฉันคือ เราโอเคกับทัศนะฟาสซิสต์ทางศาสนาเช่นนี้หรือ?
ฉันไม่ปฏิเสธว่า แนวโน้มของศานาพุทธไทยเป็นพุทธที่แคบ และมีลักษณะของมือถือสากปากถือศีลอยู่สูงมาก
แต่ทางออกของข้อถกเกียงเรื่องศาสนาไม่ควรถูกชี้นำไปในแนวทางของการพยายามจะ purify พุทธศานา โดยเชื่อว่ามีพุทธที่แท้ พุทธที่ดีกว่าพุทธอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการอ้างว่า “พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเช่นนั้นเช่นนี้” เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ตั้งแต่สองพันห้าร้อยปีที่แล้วย่อมผ่านการตีความ ขัดเกลา เขียนใหม่ คัดทิ้ง ผ่านการคัดกรอง ขัดเกลาของปัญญาชนฝ่ายพุทธของอาณาจักรต่างๆ ทั้งโลกมานับหมื่นนับแสนคน
ดังนั้น คงไม่มีใครเคลมว่า คำสอน หรือวิถีปฏิบัติของใครจะตรงกับสิ่งที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้ามากกว่ากัน
การประกาศว่าพระดีในเมืองไทยมีสายเดียว สะท้อนสำนึกแบบอีลีต ที่คิดว่า ใครก็ตามที่คิดไม่เหมือนกู เชื่อไม่เหมือนกู รู้ไม่เหมือนกู คือ โง่ คือ บกพร่อง “ฉันรู้ดีที่สุด ถ้าไม่เชื่อฉันคือผิด”
ถามอีกครั้ง เราโอเคกับแนวคิดแบบนี้หรือ?
ยิ่งตัวอย่างที่ยกมายิ่งตลก เพียงเพราะอยากรักษาวินัยเรื่องไม่จับเงิน เลยต้องเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ชีวิตด้วยการหอบลูกศิษย์ไปด้วยเพื่อจับเงินแทน
แบบนี้เข้าอีหรอบ ไม่ฆ่าไก่แต่กินไก่ใช่หรือไม่? คือ ใช้คนอื่นฆ่าแทน ไม่จับเงินแต่ใช้คนอื่นถือเงินแทน
โลกเปลี่ยนไปขนาดนี้ ทำไมเราไม่คิดว่าพระสงฆ์องค์เจ้าต้องอยู่ในโลกสมัยใหม่อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องบริหารเงิน จับเงิน ใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบุคลากร บริหารจัดงานและชีวิต
ถ้าเราบอกว่าพระต้องไม่จับเงิน ไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ถ้าเราคิดว่า Merit ของคนอยู่ที่การไม่ได้ใช้เงิน ไม่ได้ใช้โภควัตถุ ชนเผ่าล้าหลังห่างไกลที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทุกคนน่าจะได้บรรลุซึ่งนิพพานน่าไปกราบไหว้มากกว่านักบวชแน่ๆ
เพราะฉะนั้น ศาสนาในสังคมสมัยใหม่ควรเป็นพื้นที่ของ “ปรัชญา” และมนุษย์ในสังคมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะสมาทานลัทธิ ความเชื่อ ศาสนา นิกายใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใครตั้งตัวเป็นฟาสซิสต์ศาสนาคอยมาชี้นิ้วว่า ทำแบบนี้ผิด ทำแบบนี้ถูก ใครอยากขูดต้นไม้ขูด ใครอยากไหว้ต้นกล้วยไหว้ ฯลฯ
เพราะทุกความเชื่อย่อมตอบสนองต่อความจำเป็นของมนุษย์ที่เขาเลือกจะเชื่อ ต่อให้มันดูเขลาสักเพียงไหน ขณะเดียวกันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์ หากเราเห็นว่ามันไม่เข้าท่าในสายตาของเรา
สิทธิที่จะเชื่อ สิทธิที่จะวิจารณ์ เป็นสิทธิที่จะต้องมีเท่าๆ กัน แต่สิ่งที่ไม่ควรมีเลย คือ ใครก็ไม่รู้เที่ยวไปชี้นิ้วว่า สิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้สูง สิ่งนี้ต่ำ สิ่งนี้แท้ สิ่งนี้เทียม อย่างมากที่สุดที่คุณจะพูดได้คือ สิ่งนี้จะนำมาซึ่งความเสียหายสังคมอย่างไรในทัศนะของคุณ (ซึ่งถกเถียงได้)
หายนะของสังคมไทยจะเกิดขึ้นก็เพราะมีคนสถาปนาเป็นผู้พิพากษานาซีแบบนี้ในทุกๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินว่า อันนี้พุทธแท้ อันนี้พุทธเทียม อันนี้ไทยแท้ อันนี้ไทยเทียม อันนี้คือศิลปะ อันนี้คือขยะ อันนี้คืองาม อันนี้คืออัปลักษณ์
สุลักษณ์ก็เห็นศาสนาพุทธมาแล้วทุกนิกายในโลก ทำไมถึงยังคับแคบว่า พุทธที่ดีต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น พระในพุทธศาสนาตั้งหลายนิกายที่แต่งงานได้ ดื่มสุราได้ บริหารธุรกิจได้ แล้วสุลักษณ์จะอธิบายพุทธเหล่านั้นว่าอะไร?
องค์กรสงฆ์ก็เหมือนองค์กรทางโลกอื่นๆ ที่ต้องการการปรับตัว ความโปร่งใส ความทันต่อโลก ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่ต้องจับพระไปนั่งหลับตาในถ้ำให้หมด
และถ้าจะมีพระรูปใดอยากวิเวกด้วยการไปหลับตาในถ้ำก็เป็นสิทธิของท่านโดยสมบูรณ์ แต่ไม่ใช่เครื่องหมายว่าท่านสูงส่งกว่าพระที่เลือกจะอยู่ในเมือง
องค์กรสงฆ์ก็เหมือนทุกองค์กรในโลกที่ตอนนี้ต้องการทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง ว่าต้องการจะสัมพันธ์กับ “รัฐ” แค่ไหนอย่างไร
การทบทวนนี้จะดีที่สุดคือทำในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งคงเป็นเรื่องของสงฆ์และคณะสงฆ์ที่จะผลักดันวาระเหล่านี้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า โดยกำเนิดของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ทำให้องค์กรสงฆ์ต้องมาพัวพันกับอำนาจรัฐ การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ปรับรูปแบบความสัมพันธ์ก็ต้องทำผ่าน “รัฐสภา”
แต่การผ่านรัฐสภานี้อาจทำเพื่อเปลี่ยนไปสู่การที่คณะสงฆ์จะแยกตนเองเป็นอิสระต่อรัฐอย่างสมบูรณ์แบบก็ย่อมได้
เช่น องค์กรของพระคาทอลิกทั้งโลกที่ขึ้นอยู่กับวาติกัน ไม่ใช่รัฐที่ตนเองสังกัดอยู่
ต่อความเห็นของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่า องค์กรสงฆ์ หรือมหาเถรสมาคม เต็มไปด้วย ลาภ ยศ ผลประโยชน์ แหม… มีองค์กรไหนในโลกบ้างที่ไม่มี ลาภ ยศ ผลประโยชน์
การที่คนต้องมาอยู่ด้วยกันเกินสองคนขึ้นไป สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” นับประสาอะไรกับมหาเถรสมาคม ที่ประกอบด้วยพระจำนวนมาก ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และเกี่ยวพันกับอำนาจรัฐ การบริหารจัดการ เรื่องการศึกษา การปกครอง ทรัพย์สิน
เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ให้วัดมีทรัพย์ เพราะแค่ที่ดินสร้างวัดก็ถือว่าเป็นทรัพย์ จะมากหรือน้อยมันคือทรัพยากรที่ต้องบริหาร
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องพูดถึงคือ การบริหารอย่างโปร่งใส ไม่ใช่บอกว่า พระที่ดีต้องไม่มี โลภ โกรธ หลง ทำไมเราไม่ยอมรับว่า พระท่านก็คน เพียงท่านในฐานะนักบวชท่านแบกรับความคาดหวังจากสังคมว่า ท่านอยู่ในสมณะที่จะขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ให้มีอย่างเบาบางกว่าปุถุชน แต่เราจะไปคาดหวังให้ท่านปลอดเชื้อปลอดอารมณ์ ความรู้สึกถึงเพียงนั้น????
ถามจริงๆ เราไร้เดียงสาขนาดนั้นจริงๆ หรือ?
มากที่สุดที่เราจะคาดหวังได้คือ ท่านไม่ทำผิดกฎหมายที่ตราไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และกฎระเบียบที่คณะสงฆ์วางไว้ร่วมกันเท่านั้น
หากจะมีเรื่องคอร์รัปชั่นในสงฆ์ การที่เราเห็นว่ามันผิด ก็เพราะมันผิด “สัญญา” ที่ตกลงกันไว้ ไม่ใช่ผิดเพราะไปคิดว่าเป็นพระต้องไม่มีการคอร์รัปชั่นสิ
ฉันไม่เชื่อว่า ไม่มีการคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะในวงการไหน และไม่คิดว่าเพศใดจะผ่องแผ้วกว่าเพศใด มีแต่การตรวจสอบ ความโปร่งใสในการบริหารเท่านั้น การถ่วงดุลกันในองค์กรเท่านั้นที่จะสร้างประสิทธิภาพในองค์กรได้ ไม่ใช่การฝันถึงการมีพระดี พระสมถะ
นอกจากประเด็นการนิยาม “พระที่ดี พุทธที่แท้” อย่างคับแคบแล้ว มีสองย่อหน้าที่ฉันอ่านในบทสัมภาษณ์นี้อย่างตระหนก นั่นคือ
“สฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ผู้มีส่วนสำคัญในการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยเฉพาะการก่อตั้งมหาเถรสมาคมให้สงฆ์ปกครองกันเอง) เขาเป็นเผด็จการ เขายุบ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ทิ้งเลย…เผด็จการมีทั้งข้อดีข้อเสีย อาจารย์พุทธทาสเคยพูดว่า “เผด็จการโดยธรรม” หมายถึงถ้าคุณกล้าตัดสินใจก็สั่งได้ทันทีเลย ความดีของเผด็จการมันอยู่ตรงนี้ คุณใช้อำนาจส่วนตัวสามารถทำให้ดีได้ แต่ส่วนมากมันเสียเพราะตรวจสอบไม่ได้” http://www.posttoday.com/analysis/interview/410673
ความเป็นฟาสซิสต์ ท้ายที่สุดก็มาพร้อมกับความเผด็จการ ไม่น่าเชื่อว่าได้เห็นกับตา ได้อ่านผ่านตัวหนังสือชัดๆ ว่า ปัญญาชนสยามนั้นนิยมชมชอบเผด็จการได้เต็มปากเต็มคำ และกล้าพูดว่ามี “เผด็จการโดยธรรม”
จึงขอถกเถียงไว้ตรงนี้ว่า อำนาจที่ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบ ไม่มีทาง ไม่มีวันที่จะได้ชื่อว่าเป็น “อำนาจโดยธรรม” ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานใดมาวัด และอย่างไม่มีเงื่อนไข
และการลงท้ายประโยคว่า “แต่ส่วนมากมันเสียเพราะมันตรวจสอบไม่ได้” นั้นฟังไม่ขึ้นโดยสิ้นเชิง
คำว่า เผด็จการก็คือเผด็จการ เป็นคำที่ไม่มี “ข้อแม้” ไม่มีคำว่า “เผื่อเจอเผด็จการที่ดี” เพราะเมื่อตรวจสอบไม่ได้ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามันดีหรือไม่ดี!!!!!!!!!!!!!
อำนาจของคนดีคนชั่ว (รวมถึงพระสงฆ์ด้วย) อันพยุงไว้ด้วยหลักนิติรัฐ และกฎหมายที่เป็นธรรมเท่านั้นที่เราจะวางใจ
เอวัง ก็มีแด่สุลักษณ์ด้วยประการฉะนี้
ที่มามติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news/73549
ดูกันชัดๆ ทำไม “คำ ผกา” จึงเขียน “เอวัง ก็มีแด่สุลักษณ์ด้วยประการฉะนี้”
Reviewed by Unknown
on
05:54
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: