พระปุจฉา-วิสัชนาธรรม ในหลวงทรงถาม..

พระปุจฉา-วิสัชนาธรรม ในหลวงทรงถามข้อธรรม!!!

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปรินายก (เจริญ สุวัฑฒโน) เคยบอกเล่าถึงความสนพระทัยในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้า ดังนี้



“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภารกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่พระชนมพรรษายังน้อย 

…ทรงพอพระทัยในการฟังเทศน์ที่มีอยู่เป็นประจำ

 …เมื่อได้ทรงพบปะกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ก็ทรงมีพระราชปุจฉาและทรงสดับข้อธรรมนั้นๆอยู่เนืองๆ…”

ด้วยเหตุนี้  จึงขอยกพระปุจฉา-วิสัชนาธรรมบางส่วน ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่จากหนังสือ มหาบพิตร ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้ทราบ เพื่อเป็นสิริมงคลโดยทั่วกัน

พระปุจฉา-วิสัชนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล “พระอรหันต์แห่งอีสานใต้”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน

หลวงปู่ดูลย์ : กิเลสทั้งหมดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูจิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน

พระปุจฉา-วิสัชนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม ทำอย่างไรจึงแก้ไขได้

หลวงปู่ฝั้น : ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้ศาสนาจึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงศาสนาแล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน

 … คนทุกวันนี้เข้าใจว่าศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวายมองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือเป็นบิดามารดา เป็นพี่เป็นน้องกันแล้วก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มี ใจเราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้น ให้มีพรหมวิหารธรรม

พระปุจฉา-วิสัชนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : “นิพพาน”เป็นอย่างไรนะ หลวงปู่

หลวงตามหาบัว: อ้อ…พ่อหลวง ก็เหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ รู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน อยู่บนกุฏินี่เหรอ วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะ

 บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ แต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละ คือวัดป่าบ้านตาด นี่แหละพระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน

พระปุจฉา-วิสัชนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับหลวงพ่อเกษม เขมโก ณ งานตัดลูกนิมิต วัดคะตึกเชียงมั่น อ.เมือง จ.ลำปาง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร

 เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: ไม่ถึงกับแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิด-ดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่

พระปุจฉา-วิสัชนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย” ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: ภาวนาทำได้ตลอดเวลาทุกสถานที่หรือไม่

หลวงพ่อพุธ : การภาวนานี้ทำได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทุกสถานที่ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา อย่างเช่นภาวนาในขั้นบริกรรมภาวนา เช่น ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดทุกอิริยาบถ บริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ ได้ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่นึกบริกรรมภาวนา พุทโธ การกำหนดรู้ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ทำ พูด คิด รู้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นการภาวนา

จุดมุ่งหมายของการภาวนา หรือบริกรรมภาวนา ก็อยู่ที่ความต้องการมีสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีแล้ว จิตก็มีสมรรถภาพในการคุ้มครองตัวเอง ให้ยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสรภาพ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอิสรภาพโดยเด็ดขาดทุกอย่างก็ตาม ตราบใดที่จิตยังตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์กิเลสและสิ่งแวดล้อม จิตก็รู้ตัวว่ายังหย่อนสมรรถภาพ อยู่ในอำนาจของสิ่งแวดล้อม

การบริกรรมภาวนา บางท่านเมื่อจิตไม่ตรงกับนิสัย บริกรรมภาวนาเป็นปีๆ จิตไม่สงบก็มีอุบายที่จะปฏิบัติได้ คือ ต้องกำหนดรู้ดูความคิดของตนเองตลอดเวลา ว่าเราคิดอะไรก็รู้ สิ่งที่คิดมันหายไปก็รู้ อันใหม่เกิดขึ้นมาก็รู้ กำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆ เมื่อจิตมีสติกำหนดตามรู้ความคิด กำหนดทันความคิดของจิตเมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะสงบเป็นสมาธิได้

ขอขอบคุณ: หนังสือ ‘พ่อหลวง พ่อของแผ่นดิน’ โดยกลุ่มเพื่อนธรรม เพื่อนทำ, หนังสือ ‘ธรรมดีที่พ่อทำ’ โดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย, พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร สำหรับข้อมูล 

Cr.http://www.secret-thai.com/article/15634/king-question/
พระปุจฉา-วิสัชนาธรรม ในหลวงทรงถาม.. พระปุจฉา-วิสัชนาธรรม ในหลวงทรงถาม.. Reviewed by Unknown on 20:52 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.